วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทความที่ 1 ความใฝ่ฝันกับการเรียนเทคโนโลย


ยุคนี้ใครไม่สนใจหรือไม่พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาดูจะเป็นเรื่องแปลก กระแสเรื่องการปฏิรูปกำลังมาแรง ไม่แตกต่างกับกระแสอื่นๆที่เคยผ่านมาสู่ประเทศนี้เรื่องแล้วเรื่องเล่า แต่ละเรื่องที่ผ่านมาทำให้พวกเราตื่นเต้นหรือบางคราวถึงขั้นโกลาหล อลหม่านก็มาก แล้วผลสุดท้ายได้ทิ้งอะไรที่เป็นแก่นสารสาระ มีผลในทางสร้างสรรค์ อย่างยั่งยืนมากน้อยเพียงใดไว้บ้างก็คงเป็นที่ทราบกันดี
            กระแสที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา จนถึงขั้นมีการตรากฏหมายที่เลิศหรูออกมาเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นั้นมีหลายอย่าง แต่ที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นด้วยความตกต่ำอย่างน่าใจหายในเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษาของชาติ ผลผลิตที่ออกมาในทุกระดับอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง มีตัวเลขสถิติมากมาย ที่บ่งชี้ความอ่อนด้อยดังกล่าว แต่จะไม่นำมาขอกล่าวอ้างในที่นี้ 

            ขอวิเคราะห์แบบไม่เกรงใจว่า การศึกษาของชาติอยู่ในอาการร่อแร่ ถ้าเป็นคนก็น่าจะกำลังคลานอยู่ ไม่มีแม้แต่เรี่ยวที่จะลุกขึ้นยืนให้ตัวตรง ไม่เป๋ซ้ายป่ายขวา ยังไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องที่จะเรียนรู้การก้าวเดินอย่างช้าๆ เดินเร็วขึ้นหรือการวิ่งตามใครเพราะมันดูจะไกลเกินไป แต่กระนั้นก็ตาม สาระที่ปรากฏใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน เป็นความใฝ่ฝันที่สดสวยและสูงส่ง คล้ายๆกับจะให้คนบินหรือเหาะได้เลยทีเดียว ลองคิดดูเถิดว่าคนที่กำลังคลานถูกคาดหวังให้บินได้จะเกิดความทุกข์วิตกกังวลและโกลาหลเพียงใด ปรากฏการณ์หลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆทั่วประเทศขณะนี้คือคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจน มองในแง่ดีดูเหมือนว่าทุกฝ่ายกำลังเคลื่อนไหว เพื่อปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาของชาติ แต่นั่นเป็นภาพที่มองเห็นจากระยะไกลๆ ถ้าลองเข้าไปสังเกตใกล้ๆว่าเขากำลังเคลื่อนไหวทำอะไรเพื่ออะไรกันอยู่ รู้แล้วอาจสะดุ้งหลายตลบก็ได้ รายละเอียดมีมากมาย หาคำตอบได้ไม่ยากเลย

            ผู้เขียนสนใจทุกๆเรื่องทุกๆปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา เพราะไม่เคยเห็นด้วยกับการคิดทำอะไร แบบแยกส่วน คิดไปทำไปโดยไม่สนใจสิ่งที่เป็นองค์รวม หรือความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้น เพราะตัวอย่างของความล้มเหลว เละเทะอันเกิดจากเหตุดังกล่าวมีให้เห็นจนชินตาอยู่ทั่วไป ถ้าจะนำเสนอความคิดเห็นต่อทุกเรื่องทุกปัจจัย ก็อาจกลายเป็นนิยายเรื่องยาวได้หนึ่งเรื่องเลยทีเดียว จึงขอตัดประเด็นที่จะนำมาวิเคราะห์ตีแผ่ให้เด่นชัดเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งตาม พรบ.ใช้คำว่า “เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา”

            ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีข้อความที่บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญและส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างชัดเจน รวมทั้งเน้นให้เป็นไปอย่างเสรี ถ้ามองในแง่บวกก็จะเป็นเรื่องน่าพอใจ เพราะใครต่อใครต่างก็เข้าใจและเชื่อมั่นในศักยภาพและพลังของสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี มีตัวอย่างที่ผู้เขียนเองก็สามารถนำเสนอเป็นเครื่องสนับสนุนความจริงดังกล่าวได้มาก แต่ในที่นี้จะขอละไว้ในฐานะที่พูดถึงกันมากอยู่แล้ว ในทางกลับกันจะขอมองในมุมลบบ้าง เพราะการมองเทคโนโลยี ซึ่งเป็นดาบหลายคมนั้น ถ้ามองไม่ครบถ้วนเห็นไม่ชัดเจนทั่วถึงตามที่เป็นจริง ศักยภาพอันสูงยิ่งของเทคโนโลยี ก็จะเป็นเครื่องทำลายล้างสิ่งที่ดีๆที่เรามีอยู่ได้อย่างรวดเร็วและมากมายได้เช่นกัน

            เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Advanced Technology) โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า IT (Information Technology) เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาก ว่าจะช่วยให้การพัฒนา หรือ การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จเป็นจริงขึ้นมาได้ อยากให้ทบทวนดู ว่าเทคโนโลยีคืออะไร เกิดขึ้นอย่างไร พัฒนามาอย่างไร และแนวโน้มหรือทิศทางของมันจะเป็นแบบไหนต่อไป

            ถ้าย้อนไปถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป การคิดค้นเทคโนโลยีเช่นเครื่องจักรกลต่างๆก็เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้มนุษย์ทำงานได้สะดวกสบายมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตของระบบอุตสาหกรรมออกมามากจนล้นเหลือ ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่สูงขึ้นก็ยิ่งทำให้ผลผลิตซึ่งมีรากเหง้ามาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของโลก ไม่ว่าจะมาจากภูมิภาคใดก็ตาม มีปริมาณมากเกินความจำเป็นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการแห่งการยัดเยียดความจำเป็นปลอมๆให้กับมนุษย์ด้วยกันก็เกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบการสื่อสารที่รวดเร็วและทันสมัย เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ยั่วยุ กระตุ้น โดยอาศัยจุดอ่อนและปมด้อยของคนส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักจะหวาดกลัวและสะดุ้งได้ง่ายมากเมื่อถูกมองหรือกล่าวหาว่าเชย ล้าหลัง หรือไม่ทันสมัย เมื่อถูกยั่วยุก็จะรีบดิ้นรน แสวงหา ไขว่คว้าผลผลิตอันหลากหลายของระบบอุตสาหกรรม มาบริโภคหรือครอบครองกันได้ง่ายมาก มีการแข่งขันกันด้วย แข่งขันกันเป็นผู้บริโภค ซึ่งหลายครั้งบริโภคมากและเร็วกว่าเจ้าของเทคโนโลยีเสียอีก ใช้สติปัญญากันหรือไม่แค่ไหน ก็ให้ลองไตร่ตรองกันดูเถิด

            เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งทั่วไปจะหมายถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ต จะเห็นได้ว่ามีการบ่งชี้คุณประโยชน์และบทบาทที่จะมีต่อการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นอันมาก แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง หากมองย้อนหลังสักหน่อย จะพบว่าเราเริ่มจาก การไม่มี อยากมี แล้วได้มี ติดตามด้วยใช้ไม่ค่อยเป็น แล้วก็ใช้เป็นกันมากขึ้น แต่ได้ประโยชน์ มีแก่นสารสาระหรือไม่เป็นเรื่องน่าคิด ส่วนมากจะเข้าลักษณะใช้เป็น แต่ไม่ค่อยได้ประโยชน์ ดูที่กลุ่มเยาวชนของชาติก็แล้วกันว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่กับอินเตอร์เน็ต เสียเวลาและทรัพยากรไปเท่าไร และได้อะไรตอบแทนกลับมา ส่วนมากจะเข้าข่ายไร้สาระใช่หรือไม่ ยุคนี้จึงเริ่มคิดอ่านกันมากว่าจะทำอะไรหลายอย่างให้คนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวได้มากขึ้น มีการสืบค้นสาระความรู้จากอินเตอร์เน็ต มีการส่งเสริมเติมความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อจะช่วยให้การแสวงหาความรู้หรือการสืบค้นข้อมูล เป็นไปอย่างคล่องตัวทั่วถึง ภาพที่นักเรียนนักศึกษาหรือคนไทยทั่วๆไปนั่งกดปุ่มสืบค้นความรู้อันมากมายมหาศาล อยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อาจทำให้หลายคนปลื้มใจพอใจ แต่สำหรับผู้เขียนมีความคิดอีกอย่างแทรกเข้ามาและคิดว่าน่าสนใจนั่นคือ ตัวความรู้ที่หลงสืบค้นแสวงหากันอยู่นั้นเป็นความรู้ประเภทไหน จะนำมาใช้ประโยชน์แก้ปัญหาของตนและสังคมได้หรือไม่และเมื่อไร มีไม่น้อยที่เป็นการแสวงหาความรู้ของผู้อื่นอย่างเมามันและอาจถึงขั้นไร้เป้าหมาย เพราะเสน่ห์อย่างหนึ่งของอินเตอร์เน็ตคือการเชื่อมโยงต่อไปได้แบบไร้จุดจบและแสนสะดวกง่ายดาย เรียกได้ว่าเป็นสื่อมหัศจรรย์ชนิดหนึ่งเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น